18 ปี บนลีกสูงสุด เกิดอะไรขึ้นกับ ชลบุรี ที่ตกชั้นไปแล้วครึ่งตัว
ทีมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ปลุกกระแสแฟนบอลภูธรให้บูมสู่ฟุตบอลไทย จากเจ้าของแชมป์ไทยลีก สู่การดิ้นรนหนีตกชั้นในฤดูกาลปัจุบัน เกิดอะไรขึ้น ชลบุรี เอฟซี
‘ฉลามชล’ ก้าวขึ้นมาเป็นสโมสรแรกๆ ในประเทศไทย ที่มีการบริหารจัดการยอดเยี่ยมที่สุดในช่วงยุคตั้งไข่ ลีกอาชีพของดินแดนสยาม ไล่ตั้งแต่แฟนบอลพันธ์ุแท้ กองเชียร์เหนียวแน่น ไปจนถึงการวางรากฐานระบบอะคาเดมี่ ชลบุรี คือแถวหน้าของฟุตบอลไทย
แชมป์ไทยลีก 1 สมัย และการวนเวียนอยู่ในท็อป 3 ตลอด 8-9 ฤดูกาลแรกบนลีกสูงสุดของพวกเขา เป็นเครื่องหมายการันตีความยิ่งใหญ่ ‘ในอดีต’ ของลูกน้ำเค็มทีมนี้
ชลบุรี เอฟซี ค่อยๆ ลดระดับตัวเองลงมาเรื่อยๆ จากหนึ่งในทีมลุ้นแชมป์ ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นทีมกลางตาราง จากลุ้นเซ็นผู้เล่นดาวดังมาเสริมทัพ กลายเป็นทีมที่มุ่งเน้นการพัฒนาเยาวชนของตัวเอง เพื่อส่งออก และนำเงินมาหมุนเวียนให้กับทีม แน่นอนปัญหาใหญ่สุดของพวกเขาคือ ‘เงินทุน’
พวกเขาไม่เคยขาดดาวรุ่งฝีเท้าดี ที่ทีมลงทุนปลุกปั้นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย ภายใต้การควบคุมของ ‘โค้ชเฮง’ วิทยา เลาหกุล ปรมาจารย์กุนซือของประเทศไทย นอกจากนั้นเยาวชนเหล่านั้นก็ก้าวขึ้นไปติดทีมชาติอย่างสม่ำเสมอในทุกชุด
จากเยาวชนที่จะกลายเป็นอนาคตของสโมสร เปลี่ยนเป็นว่า เยาวชนกลายเป็นแกนหลักของสโมสร จากนโยบาย ‘เน้นสร้างไม่เน้นซื้อ’ ทำให้คุณภาพของทีมเริ่มดร็อปลงมา ไม่ใช่ว่าเยาวชนของชลบุรี ไม่ดีพอ แต่เรียกว่ายังไม่พร้อมน่าจะตรงจุดกว่า เด็กอายุ 16-19 ก้าวขึ้นมาแบกความหวังของทีม แบกความหวังของแฟน กลายเป็นว่าดาวรุ่งของชลบุรี สู้ไม่ได้ ทั้งในเรื่องของประสบการณ์, ฝีเท้า และจิตใจ ลองดูแค่ตำแหน่งกัปตันทีมยังตกเป็นของนักเตะวัยเพียง 23 ปี
จากเรื่องของเยาวชน วกกลับไปที่เรื่องงบประมาณ กลุ่มทุนของ ชลบุรี มีเงินอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นทีมเงินถุงเงินถังเหมือนอย่างพวก บุรีรัมย์, บีจี, การท่าเรือ กลายเป็นว่าพวกเขาต้องมองการทำทีมในระยะยาวซึ่งก็คือการลงทุนทำเยาวชน แต่เหตุการณ์ก็มาหนักขึ้นในช่วง โควิด-19 มาตอกย้ำสภาวะด้านการเงินของทีมให้แย่ลงไปอีก
ชลบุรี เอฟซี ต้องยอมขายนักเตะคีย์แมน ที่ก้าวขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของทีมอย่าง วรชิต กนิตศรีบําเพ็ญ และกฤษดา กาแมน ออกไปจากทีม ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือต้องการนำเงินหลักหลายสิบล้านมาใช้หมุนเวียนในสโมสร
ลองคิดภาพตาม สโมสรมีแกนหลักที่ปลุกปั้นมาหลายปี การเงินสโมสรมีปัญหา ขายนักเตะเพื่อเอาเงิน เยาวชนที่กำลังเติบโตถูกเร่งดันขึ้นมาใช้งาน เป็นแบบนี้วนลูปไปเรื่อยๆ ส่งผลให้คุณภาพของผู้เล่นในทีมเริ่มดร็อปลงไป
ซ้ำพวกเขายังโดนปัญหาเรื่องนอกสนามเข้ามาโจมตีสโมสร โดยเฉพาะเรื่องระเบียบวินัยของนักฟุตบอล ทั้งการไม่รักษาสภาพร่างกาย เกเร กินเหล้า ไปจนถึงเรื่องเมาแล้วขับ ทำให้ ‘ฉลามชล’ ต้องออกมารับมือเรื่องภาพลักษณ์แย่ๆ นอกสนามอีกด้วย ซึ่งอาจจะมีส่วนให้โฟกัสจากฟุตบอล หลุดออกไป
ผู้เล่นต่างชาติ คือจุดชี้เป็นชี้ตายของหลายๆ สโมสรในไทย แน่นอน ชลบุรี เอฟซี ฝากความหวังเอาไว้กับโควตาต่างชาติ เพื่อที่จะเอามาประครองเหล่าดาวรุ่งของทีม แต่ในเมื่องบประมาณที่ไม่สูงมากพอ ‘ทัพลูกน้ำเค็ม’ ก็ต้องวัดดวงกับคุณภาพที่ได้รับ ถ้าได้ของดีราคาถูกก็รอดไป
แต่ในฤดูกาลนี้กลับไม่ใช่แบบนั้น ผู้เล่นต่างชาติในฤดูกาลนี้ของ ชลบุรี กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งพวกเขาร่วงไปอยู่โซนท้ายตาราง เพราะ 3-4 คนในโควตานี้ ไม่ได้ดีกว่าผู้เล่นชาวไทยในทีมเลย อาจจะเว้นแต่เพียง แพทริค เดย์โต ผู้รักษาประตูชาวฟิลิปปินส์ เอาไว้คนหนึ่ง
ในช่วงต้นฤดูกาล ชลบุรี อุตส่าห์ขยับเร็วในการเลือกโค้ช โดยแต่งตั้ง มาโกโตะ เทกุระโมริ เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่น เพื่อเข้ามาวางรางฐานการเล่น พร้อมๆ กับการดันเด็กจากอะคาเดมี่เข้าสู้ทีมชุดใหญ่ แต่กลายเป็นกระดุมเม็ดแรกอย่าง โค้ชเทกุ กลายเป็นการติดกระดุมที่ผิดพลาด เพราะ ทีมหล่นไปอยู่รองบ๊วย หลังผ่านไป 11 นัด
วิทยา เลาหกุล ขยับขึ้นมากุมบังเหียนกู้วิกฤต อาจด้วยนิยามง่ายๆ ว่า ‘ใครจะรู้จักเด็กในทีมไปดีกว่าคนที่ปั้นพวกเขาขึ้นมา’ แต่จากที่กล่าวมาตลอดทั้งบทความ ‘เฮงซัง’ อาจจะมาช้าเกินไป เพราะทุกอย่างมันผิดที่ผิดทางไปทั้งหมดแล้ว
โดยเฉพาะสภาพจิตใจของนักฟุตบอลในทีมช่วงนี้ ที่การแข่งขันกำลังเข้มข้น ในเมื่อใจมันไม่สู้แล้ว จะไปชนะทีมอื่นได้อย่างไร ทำให้เส้น 18 ปี บนลีกสูงสุดของ ชลบุรี เอฟซี อาจจะสิ้นสุดลงในฤดูกาลนี้
เขียนโดย The Lite Team.
LS Sport ข่าวกีฬาคนรุ่นใหม่ 24 ชม.